ประเภทแผงโซลาร์: แบบไหนคือตัวเลือกที่ใช่สำหรับคุณ
Table of Contents
แผงโซลาร์ในตลาดสำหรับที่อยู่อาศัยในปัจจุบันมีอยู่สามประเภทหลักๆ ด้วยกัน ได้แก่ โมโนคริสตัลไลน์ โพลี่คริสตัลไลน์ และฟิล์มบาง (แผง Amorphous)
โซลาร์เซลล์ที่อยู่ในแผงคือปัจจัยที่กำหนดว่าแผงไหนเป็นประเภทอะไร โซลาร์เซลล์แต่ละประเภทมีลักษณะที่เฉพาะแตกต่างกันออกไป ส่งผลให้แผงแต่ละประเภทเหมาะกับสถานการณ์ที่แตกต่างกันออกไป
เราได้เขียนแนวทางการเลือกแผงโซลาร์โมโนคริสตัลไลน์ โพลี่คริสตัลไลน์ และฟิล์มบาง เพื่อช่วยคุณในการตัดสินใจว่าแบบใดเหมาะสำหรับบ้านของคุณ
สรุป
- แผงโซลาร์มีอยู่สามประเภทด้วยกัน ได้แก่ โมโนคริสตัลไลน์ โพลี่คริสตัลไลน์ และแผ่นบาง
- แผงโซลาร์ประเภทโมโนคริสตัลไลน์มีประสิทธิภาพสูงและมีดีไซน์สมัยใหม่ แต่ก็มาพร้อมกับราคาที่สูงกว่าแผงโซลาร์ประเภทอื่นๆ
- แผงโซลาร์ประเภทโพลี่คริสตัลไลน์มีราคาถูกกว่าแผงโซลาร์ประเภทโมโนคริสตัลไลน์ แต่มีประสิทธิภาพน้อยกว่าและมีความสวยงามน้อยกว่า
- แผงโซลาร์ประเภทฟิล์มบางมีราคาถูกที่สุด แต่มีประสิทธิภาพต่ำที่สุดและต้องใช้พื้นที่เยอะเพื่อให้ได้ตรงตามระดับพลังงานที่คุณต้องการ
- แบรนด์แผงโซลาร์เซลล์และช่างติดตั้งที่คุณเลือก มีความสำคัญมากกว่าประเภทของโซลาร์เซลล์
แผงโซลาร์สามประเภท
โมโนคริสตัลไลน์ (Monocrystalline)
แผงโซลาร์แบบโมโนคริสตัลไลน์เป็นประเภทที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับการติดตั้งบนหลังคาในปัจจุบัน(ทั้งเชิงพาณิชย์และฟาร์ม) โมโนคริสตัลไลน์มีประสิทธิภาพมากที่สุดแต่ก็แพงที่สุดด้วยเช่นกัน และแผงชนิดนี้มีสีดำ
โซลาร์เซลล์ซิลิกอนโมโลคริสตัลไลน์ผลิตขึ้นโดยใช้กรรมวิธีที่เรียกว่า Czochralski ซึ่งวิธีนี้จะมีการวางคริสตัลแบบ ‘เม็ดผลึก ในถังหลอมซิลิกอนบริสุทธิ์อุณหภูมิสูง
กระบวนการนี้มีผลึกซิลิกอนชิ้นเดียวที่เรียกว่า แท่ง (ingot) ซึ่งจะถูกนำมาหั่นเป็นแผ่นซิลิกอนเวเฟอร์บางๆ แล้วนำไปใช้ในแผงโซลาร์เซลล์
ในปัจจุบันมีแผงโซลาร์ชนิดโมโนคริสตัลไลน์หลายแบบตามท้องตลาด ซึ่ง “Passivated Emitter and Rear Contact” หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ PERC คือเซลล์ที่กำลังได้รับความนิยมมากสำหรับตัวเลือกแบบโมโนคริสตัลไลน์ เซลล์ PERC ผ่านกระบวนการผลิตต่างๆ และกระบวนการประกอบ ที่จะมาเพิ่มปริมาณไฟฟ้าที่เซลล์ตัวนี้สามารถผลิตได้
เทคโนโลยีโมโนคริสตัลไลน์อีกตัวหนึ่งมีชื่อว่า แผงโซลาร์แบบสองหน้า (Bifacial solar panels) โดยตัวนี้สามารถสร้างไฟฟ้าได้จากทั้งด้านหน้าและด้านหลังของตัวแผง และกำลังได้รับความนิยมสำหรับการใช้เพื่อติดตั้งกับโครงยึดพื้นดิน
โพลี่คริสตัลไลน์ (Polycrystalline)
แผงโพลี่คริสตัลไลน์ หรือในบางครั้งอาจรู้จักกันในชื่อ ‘แผงมัลติคริสตัลไลน์’ กำลังได้รับความนิยมในบรรดาเจ้าของบ้านที่กำลังต้องการติดตั้งแผงโซลาร์ในงบประหยัด
แผงโพลี่คริสตัลไลน์มีความคล้ายคลึงกับประเภทโมโนคริสตัลไลน์ตรงที่ทำมาจากเซลล์โซลาร์ซิลิกอน แต่กระบวนการให้ความเย็นจะแตกต่างกันออกไป เพราะแผงประเภทนี้จะสร้างคริสตัลขึ้นมาหลายชิ้นแทนที่จะสร้างขึ้นมาชิ้นเดียว
แผงโพลี่คริสตัลไลน์ที่ใช้ตามบ้านมักจะประกอบด้วยเซลล์โซลาร์ 60 เซลล์
ฟิล์มบาง/ยืดหยุ่น/Amorphous
โซลาร์เซลล์ฟิล์มบางมักใช้กันในการติดตั้งโซลาร์สำหรับระบบสาธารณูปโภคขนาดใหญ่และในระดับอุตสาหกรรมเนื่องจากมีประสิทธิภาพต่ำกว่า
แผงโซลาร์แผ่นบางทำมาจากการวางสารโฟโตวอลเทอิก (photovoltaic substance) ชั้นบางๆ ลงบนพื้นผิวที่เป็นของแข็ง เช่น แก้ว สารโฟโตวอลเทอิกต่าง ๆ ได้แก่ Amorphous silicon (a-Si), Copper Indium Gallium Selenide (CIGS) และ Cadmium Telluride (CdTe) เป็นต้น วัสดุเหล่านี้แต่ละตัวถูกใช้เพื่อสร้างแผงโซลาร์เซลล์ใน “รูปแบบ” ที่แตกต่างกัน แต่รูปแบบทั้งหมดนี้อยู่ในประเภทของเซลล์โซลาร์แบบฟิล์มบาง
ในระหว่างกระบวนการผลิต สารโฟโตวอลทาอิกจะมาก่อตัวจนเกิดเป็นแผ่นบางน้ำหนักเบา แถมในบางครั้งยังมีความยืดหยุ่นอีกด้วย
ประเภทแผงโซลาร์โดยเรียงตามประสิทธิภาพ
ประสิทธิภาพสูงสุด: โมโนคริสตัลไลน์
อัตราประสิทธิภาพของแผงโซลาร์โมโนคริสตัลไลน์มีค่าอยู่ตั้งแต่ 17% ถึง 22% ทำให้กลายเป็นแผงโซลาร์เซลล์ประเภทที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ด้วยความที่มีอัตราประสิทธิภาพสูง ส่งผลให้แผงโมโนคริสตัลไลน์เหมาะสำหรับการติดตั้งในบ้านที่มีพื้นที่หลังคาจำกัด เพราะใช้เพียงไม่กี่แผงเท่านั้นก็ได้ปริมาณไฟฟ้าตามต้องการแล้ว
หัวใจสำคัญที่ทำให้แผงโซลาร์โมโนคริสตัลไลน์มีประสิทธิภาพมากขนาดนี้คือกระบวนการผลิต เนื่องจากโซลาร์เซลล์ชนิดนี้ทำมาจากซิลิกอนคริสตัลก้อนเดี่ยว ทำให้อิเล็กตรอนสามารถไหลผ่านเซลล์ได้ง่าย ส่งผลให้ประสิทธิภาพโดยรวมเพิ่มมากขึ้น
แผงโมโนคริสตัลไลน์ไม่เพียงแค่มีอัตราประสิทธิภาพสูงสุดเท่านั้น แต่ยังมีอัตราความจุกำลังสูงสุดด้วย แผงโมโนคริสตัลไลน์ส่วนใหญ่ในท้องตลาดทุกวันนี้จะมีอัตราเอาท์พุตกำลังอย่างน้อย 320 วัตต์ และสามารถสูงได้มากกว่า 400 วัตต์
ประสิทธิภาพของโมโนคริสตัลไลน์ได้รับการพิสูจน์เฉพาะในช่วงที่มีแสงแดดน้อยเท่านั้น ทำให้บางคนอาจโต้แย้งว่าโพลี่คริสตัลไลน์เป็นตัวเลือกที่ดีกว่าในประเทศไทย เนื่องจากบ้านเรามีแสงแดดเกิดขึ้นนานกว่า
ประสิทธิภาพระดับกลาง: โพลี่คริสตัลไลน์
อัตราประสิทธิภาพของแผงโพลี่คริสตัลไลน์มักจะอยู่ระหว่าง 15% ถึง 17% สาเหตุที่ทำให้อัตราประสิทธิภาพน้อยกว่าประเภทโมโนคริสตัลไลน์ก็เพราะลักษณะที่อิเล็กตรอนขยับผ่านโซลาร์เซลล์ เด้วยความที่เซลล์โพลี่คริสตัลไลน์ประกอบด้วยเซลล์ซิลิกอนหลายตัว ส่งผลให้อิเล็กตรอนขยับได้ยากและประสิทธิภาพของแผงลดลง
ด้วยความที่แผงโพลี่คริสตัลไลน์มีประสิทธิภาพต่ำจึงทำให้มีเอาท์พุตกำลังน้อยกว่าแผงประเภทโมโนคริสตัลไลน์ โดยมักจะอยู่ระหว่าง 240 วัตต์ถึง 300 วัตต์ แผงโพลี่คริสตัลไลน์บางชิ้นอาจมีอัตรากำลังได้มากกว่า 300 วัตต์
อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีและกระบวนการผลิตใหม่ ๆ ได้ทำให้อัตรากำลังของแผงโพลี่คริสตัลไลน์เพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนค่อย ๆ ตามแผงโมโนคริสตัลไลน์มาแบบติดๆ
ประสิทธิภาพต่ำที่สุด: ฟิล์มบาง
แผงโซลาร์ฟิล์มบางมีอัตราประสิทธิภาพที่ต่ำมาก เมื่อไม่กี่ปีมานี้พบว่าประสิทธิภาพของฟิล์มบางนั้นอยู่แค่เลขหลักเดียวเท่านั้น แต่ในตอนนี้ประสิทธิภาพที่สามารถหวังผลได้จะอยู่ในช่วง 10–13%
เพื่อให้ได้พลังงานตรงตามต้องการ คุณจำเป็นต้องติดแผงฟิล์มบางในพื้นที่ที่กว้างกว่าเพื่อให้ได้ไฟฟ้าเทียบเท่ากับแผงแบบโซลาร์ซิลิกอนคริสตัลไลน์ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมแผงฟิล์มบางจึงไม่ค่อยเหมาะกับการติดตั้งในที่อยู่อาศัยซึ่งมีพื้นที่จำกัด
แม้ว่าจะมีประสิทธิภาพต่ำในหลาย ๆ เรื่อง แต่แผงฟิล์มบางตัวนี้มีค่าสัมประสิทธิ์อุณหภูมิที่ดีที่สุด เมื่ออุณหภูมิของแผงโซลาร์เพิ่มขึ้น แผงจะผลิตไฟฟ้าได้น้อยลง สัมประสิทธิ์อุณหภูมิคือตัวบ่งบอกว่าเอาท์พุตพลังงานจะลดลงไปเท่าไหร่เมื่อแผงร้อนขึ้น 1*C จาก 25*C
ค่าสัมประสิทธิ์อุณหภูมิมาตรฐานสำหรับแผงโมโนคริสตัลไลน์และโพลี่คริสตัลไลน์มักจะอยู่ระหว่าง -0.3% ถึง -0.5% ต่อ *C แต่แผงฟิล์มบางจะอยู่ที่ประมาณ -0.2% ต่อ *C นั่นหมายความว่าแผงฟิล์มบางประเภทจะทนความร้อนได้ดีกว่าแผงประเภทอื่นๆ
ประเภทแผงโซลาร์โดยเรียงตามราคา
แผงโพลี่คริสตัลไลน์มักจะมีราคาถูกกว่าโมโนคริสตัลไลน์เล็กน้อย แต่สำหรับประเทศไทยเรื่องนี้ไม่ได้เป็นจริงเสมอไป แผงโซลาร์เซลล์ส่วนใหญ่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศและไม่ค่อยมีร้านที่ขายแผงโซลาร์เซลล์เท่าไหร่ ส่งผลให้ค่าจัดส่งและราคาที่ทางร้านตั้งอาจมีการผันผวน ดังนั้นเราจึงขอแนะนำให้เช็คข้อมูลกับช่างติดโซลาร์เซลล์ก่อนตัดสินใจ
ราคาสูงที่สุด: แผงโมโนคริสตัลไลน์
แผงโมโนคริสตัลไลน์มีราคาแพงที่สุดในบรรดาแผงทั้งสามประเภท เนื่องจากกระบวนการผลิตและประสิทธิภาพที่สูง
แต่เมื่อกระบวนการผลิตและเทคโนโลยีในแผงโซลาร์มีการพัฒนาจนดีขึ้น ความต่างในเรื่องของราคาระหว่างแผงโมโนคริสตัลไลน์และโพลี่คริสตัลไลน์ก็น้อยลงเป็นอย่างมาก
แผงโมโนคริสตัลไลน์จะมีราคาอยู่ที่ประมาณ 4,500-6,000 บาทสำหรับแผงขนาด 300-400 วัตต์ โดยขึ้นอยู่กับราคาของแต่ละร้าน
ราคากลางๆ: แผงโพลี่คริสตัลไลน์
ในอดีต แผงโพลี่คริสตัลไลน์เป็นตัวเลือกที่ถูกที่สุดสำหรับที่อยู่อาศัยที่ต้องการติดแผงโซลาร์แต่ ยังก็ได้ประสิทธิภาพที่ดีอยู่ ด้วยราคาที่ต่ำทำให้แผงโพลี่คริสตัลไลน์มีส่วนแบ่งตลาดมากมายสำหรับการติดตั้งแผงโซลาร์ในที่อยู่อาศัยในระหว่างช่วงปี 2555 ถึง 2559
แต่อย่างที่เราได้บอกไปก่อนหน้านี้ว่าช่องว่างราคาระหว่างโมโนคริสตัลไลน์และโพลี่คริสตัลไลน์กำลังลดลง ในตอนนี้เจ้าของบ้านหลายรายยอมจ่ายแพงขึ้นอีกนิดเพื่อให้ได้ประสิทธิภาพและกำลังที่ดีกว่าจากแผงโมโนคริสตัลไลน์
ราคาถูกที่สุด: แผงฟิล์มบาง
แผงโซาร์ประเภทฟิล์มบางมีราคาถูกที่สุดในบรรดาประเภทแผงโซลาร์ต่างๆ โดยมีสาเหตุมาจากการที่ติดตั้งง่ายกว่าและใช้อุปกรณ์น้อยกว่า แต่แผงชนิดนี้เองก็มีประสิทธิภาพน้อยกว่าและต้องการพื้นที่กว้างในการติดตั้งเพื่อให้ได้ไฟฟ้ามากพอสำหรับใช้ในบ้าน
นอกจากนี้ แผงฟิล์มบางยังเสื่อมสภาพได้เร็วกว่าแผงชนิดอื่นๆ นั่นหมายความว่าคุณต้องเปลี่ยนแผงอยู่บ่อยๆ ส่งผลให้มีค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นซ้ำในระยะยาว
แผงโซลาร์ประเภทใดที่เหมาะสำหรับบ้านของคุณที่สุด?
แผงโซลาร์ประเภทโมโนคริสตัลไลน์คือแผงที่เหมาะสำหรับการติตดั้งภายในที่อยู่อาศัยมากที่สุด
แม้คุณจะต้องจ่ายแพงกว่าเล็กน้อย แต่คุณจะได้ระบบที่กินที่น้อยและได้ประสิทธิภาพและความคงทนแบบเต็มเม็ดเต็มหน่วย แถมประสิทธิภาพและอัตราเอาท์พุตกำลังที่ได้จากแผงโมโนคริสตัลไลน์ยังช่วยให้คุณประหยัดเงินได้มากกว่าตลอดอายุการใช้งาน
หากคุณมีงบจำกัด แผงโพลี่คริสตัลไลน์อาจเป็นตัวเลือกที่ดูเข้าท่ากว่า เราขอไม่แนะนำให้คุณติดแผงโซลาร์ชนิดฟิล์มบางในที่อยู่อาศัยเนื่องจากประสิทธิภาพและความคงทนไม่คุ้มค่าที่จะแลกกับราคาแผงที่ถูก และคุณคงไม่มีพื้นที่มากพอสำหรับการติดตั้งแผงฟิล์มบางมากพอที่จะให้ได้ไฟฟ้าใช้ในบ้าน
ปัจจัยที่ควรพิจารณานอกจากประเภทแผงโซลาร์
พวกเราที่ Siam Cells คิดว่าปัจจัยที่สำคัญมากกว่าการเลือกประเภทของแผงโซลาร์เซลล์มีอยู่สองข้อด้วยกัน ได้แก่ แบรนด์ของแผงโซลาร์ และการหาช่างติดโซลาร์ที่เหมาะสม
การเลือกแบรนด์ผู้ผลิตแผงที่มีคุณภาพสูงจะทำให้คุณมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ติดบนหลังคาของคุณมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นแผงชนิดใดก็ตาม แถมยังมาพร้อมกับการรับประกัน 25-30 ปีอีกด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดเมื่อพิจารณาติดตั้งแผงโซลาร์ คือ ช่างผู้ติดตั้ง ระบบแผงโซลาร์จะต้องอยู่บนหลังคาของคุณอย่างน้อย 25 ปี คุณจึงต้องมีช่างที่สามารถไว้ใจได้เป็นเวลาสองทศวรรษ เราขอแนะนำให้คุณสอบถามราคาจากช่างในท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงและมีประสบการณ์ เพื่อให้เงินที่คุณลงทุนไปคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์